วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

ทำอย่างไรให้หายโกรธ

ทำอย่างไรจะหายโกรธ[1]
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต)[2]
  ทำอย่างไรจะหายโกรธ

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งเมตตาการุณย์ พระพุทธเจ้ามีพระคุณข้อใหญ่ประการหนึ่ง คือ พระมหากรุณา ชาวพุทธทุกคนได้รับการสั่งสอนให้มีเมตตากรุณา ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยกายวาจา และมีน้ำใจปรารถนาดี แม้แต่เมื่อไม่ได้ทำอะไรอื่น ก็ให้แผ่เมตตาแก่เพื่อนมนุษย์ตลอดจนสัตว์ทั้งปวง ขอให้อยู่เป็นสุขปราศจากเวรภัยกันโดยทั่วหน้า
อย่างไรก็ตาม เมตตา มีคู่ปรับสำคัญอย่างหนึ่งคือ ความโกรธ ความโกรธเป็นศัตรูที่คอยขัดขวางไม่ให้เมตตาเกิดขึ้น คนบางคนเป็นผู้มักโกรธ พอโกรธขึ้นมาแล้วต้องทำอะไรรุนแรงออกไป ทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าทำอะไรไม่ได้ ก็หงุดหงิดงุ่นง่านทรมานใจตัวเอง ในเวลานั้นเมตตาหลบหายไม่รู้ว่าไปซ่อนตัวอยู่ไหน ไม่ยอมปรากฏให้เห็น ส่วนความโกรธ ทั้งที่ไม่ต้องการไม่ยอมหนีไป บางทีจนปัญญา ไม่รู้จะขับไล่หรือกำจัดให้หมดไปได้อย่างไร
โบราณท่านรู้ใจและเห็นใจคนขี้โกรธ จึงพยายามช่วยเหลือโดยสอนวิธีการต่างๆ สำหรับระงับความโกรธ วิธีการเหล่านี้มีประโยชน์ไม่เฉพาะสำหรับคนมักโกรธเท่านั้น แต่เป็นคติแก่ทุกคน ช่วยให้เห็นโทษของความโกรธ และมั่นในคุณของเมตตายิ่งขึ้น จึงขอนำมาเสนอพิจารณากันดู วิธีเหล่านั้นท่านสอนไว้เป็นขั้นๆ ดังนี้

ขั้นที่ ๑ นึกถึงผลเสียของความเป็นคนมักโกรธ
ขั้นที่ ๒  พิจารณาโทษของความโกรธ
ขั้นที่ ๓ นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ
ขั้นที่ ๔ พิจารณาว่าความโกรธคือการสร้างทุกข์ให้กับตัวเองและเป็นการลงโทษตัวเองให้สมใจศัตรู
ขั้นที่ ๕ พิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน
ขั้นที่ ๖  พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระพุทธเจ้า
ขั้นที่ ๗ พิจารณาความเคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ
ขั้นที่ ๘ พิจารณาอานิสงส์ของเมตตา
ขั้นที่ ๙ พิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ
ขั้นที่ ๑๐ ปฏิบัติทานคือการให้หรือแบ่งปันสิ่งของ

[1] เรื่องนี้เขียนตามแนวคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ภาค ๒ หน้า ๙๓ ๑๐๖ แต่แทรกเสริมเติมและตัดต่อเรียบเรียงใหม่ตามที่เห็นสมควร ของเดิมมี ๙ วิธี ในที่นี้ขยายออกเป็น ๑๐ วิธี และเนื้อหาเก่า ท่านมุ่งสอนพระภิกษุผู้บำเพ็ญเมตตากรรมฐาน ในที่นี้เขียนปรับความให้เหมาะแก่คนทั่วไป
[2] นามเดิม ประยุทธ์ นามสกุล อารยางค์กูร เกิดเมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๑ ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี บรรพชาเมื่อ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๔ สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้ ขณะที่เป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้อุปสมบทในฐานะนาคหลวง ร อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๐๔ สบได้ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับ ๑)จากมหาจุใลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ ๒๕๐๕ และสอบได้วิชาชุดครู พ.ม. เมื่อ ๒๕๐๖ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก ๑๐ สถาบัน ๑๑ ปริญญา ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ต.บางระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม



ขั้นที่ ๑
นึกถึงผลเสียของความมักโกรธ
          นึกถึงผลเสียของความเป็นคนมักโกรธ เช่น
<!--[if !supportLists]-->ก.     <!--[endif]-->สอนตนเองให้นึกว่า พระพุทธเจ้าของเราทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ และทรงสอนชาวพุทธให้เป็นคนมีเมตตา เรามัวมาโกรธอยู่ ไม่ระงับความโกรธเสีย เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ไม่ทำตามอย่างศาสดา ไม่สมกับเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า จงรีบทำตัวให้สมกับที่เป็นศิษย์ของพระองค์ ละจงเป็นชาวพุทธที่ดี
<!--[if !supportLists]-->ข.     <!--[endif]-->พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า คนที่โกรธเขาก่อนก็นับว่าเลวอยู่แล้ว คนที่ไม่มีสติรู้เท่าทัน หลงโกรธตอบเขาอีก ก็เท่ากับสร้างความเลวให้ยืดยาวมากขึ้น นับว่าเลวหนักลงไปกว่าคนที่โกรธก่อนนั้นอีก เราอย่าเป็นทั้งคนเลวทั้งคนเลวกว่านั้นเลย
<!--[if !supportLists]-->ค.    <!--[endif]-->พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนต่อไปอีกว่า เขาโกรธมา เราไม่โกรธตอบไป อย่างนี้เรียกว่า ชนะสงครามที่ชนะได้ยากเมื่อรู้ทันว่าคนอื่นหรืออีกฝ่ายหนึ่งเขาขุ่นเคืองขึ้นมาแล้วเรามีสติระงับใจไว้เสีย ไม่เคืองตอบ จะชื่อว่าเป็นผู้ทำประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ช่วยไว้ทั้งเขาและทั้งตัวเราเอง<!--[if !supportFootnotes]-->[1]<!--[endif]--> เพราะฉะนั้น เราอย่าทำตัวเป็นผู้แพ้สงครามเลย จงเป็นผู้ชนะสงคราม และเป็นผู้สร้างประโยชน์เถิด อย่าเป็นผู้สร้างความพินาศวอดวายเลย
ถ้าคิดนึกระลึกอย่างนี้แล้วยังไม่หายโกรธ ให้พิจารณาขั้นที่สองต่อไปอีก
<!--[if !supportFootnotes]-->


<!--[endif]-->
<!--[if !supportFootnotes]-->[1]<!--[endif]-->  ดู สํ.ส. ๑๕/๘๗๕/๓๒๕
ขั้นที่ ๒
พิจารณาโทษของความโกรธ

          ในขั้นนี้มีพุทธพจน์ตรัสสิอนไว้มากมาย เช่นว่า
                   คนขี้โกรธจะมีผิวพรรณไม่งาม คนขี้โกรธนอนก็เป็นทุกข์ ฯลฯ คนโกรธไม่รู้เท่าทันว่าความโกรธนั้นแหละคือภัยที่เกิดขึ้นข้างในตัวเอง พอโกรธเข้าแล้วก็ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์ โกรธเข้าแล้วมองไม่เห็นธรรม เวลาถูกความโกรธครอบงำ มีแต่ความมืดตื้อ คนโกรธจะผลาญสิ่งใด สิ่งนั้นทำยากก็เหมือนง่าย แต่ภายหลังพอหายโกรธแล้ว ต้องเดือดร้อนใจเหมือนถูกไฟเผา
                   แรกเมื่อจะโกรธนั้น ก็แสดงความหน้าด้านออกมาก่อนเหมือนมีควันก่อนจะเกิดไฟ พอความโกรธแสดงเดชทำให้คนดาลเดือดได้ คราวนี้ละไม่มีอะไรกลัว ยางอายไม่มี ถ้อยคำไม่มีคารวะ ฯลฯ คนโกรธฆ่าพ่อฆ่าแม่ของตัวเองก็ได้ ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าคนสามัญก็ได้ทั้งนั้น ลูกที่แม่เลี้ยงไว้จนได้ลืมตามองดูโลกนี้ แต่มีกิเลศหนา พอโกรธขึ้นมาก็ฆ่าได้แม้แต่ แม่ผู้ให้ชีวิตนั้นฯลฯ<!--[if !supportFootnotes]-->[1]<!--[endif]-->
                   กาลีใดไม่มีเท่าโทสะ ฯลฯ เคราะห์อะไรเท่าโทสะไม่มี<!--[if !supportFootnotes]-->[2]<!--[endif]-->
          ความโกรธมีโทษก่อผลร้ายให้มากมายอย่างพุทธพจน์เป็นตัวอย่าง แม้เรื่อราวในนิทานต่างๆและชีวิตจริงก็มีมากมาย ล้วนแสดงให้เห็นว่าความโกรธมีแต่ทำให้เกิดความเสียหายและความพินาศ ไม่มีผลดีอะไรเลย จึงควรฆ่ามันทิ้งเสีย อย่าเก็บเอาไว้เลย ฆ่าอะไรอื่นแล้วอาจต้องมานอนทุกข์ ฆ่าอะไรอื่นแล้วต้องมาโศกเศร้าเสียใจ แต่ ฆ่าความโกรธแล้วนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธแล้วไม่โศกเศร้าเลย<!--[if !supportFootnotes]-->[3]<!--[endif]-->
          พิจารณาความโทษความโกรธทำนองนี้แล้ว ก็น่าจะบรรเทาความโกรธได้ แต่ถ้ายังไม่สำเร็จละก็ลองวิธีต่อไปอีก
<!--[if !supportFootnotes]-->


<!--[endif]-->
<!--[if !supportFootnotes]-->[1]<!--[endif]-->  องฺ.สตฺตก.๒๓/๖๑/๙๘(แปลตัดเอาความเป็นตอนๆ)
<!--[if !supportFootnotes]-->[2]<!--[endif]--> ขุ.ธ. ๒๕/๒๕/๔๒ ;๒๘/๔๘
<!--[if !supportFootnotes]-->[3]<!--[endif]--> สํ.ส. ๑๕/๑๙๙/๕๗
ขั้นที่ ๓
นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ

          ธรรมดาคนเรานั้น ว่าโดยทั่วไป แต่ละคนๆ ย่อมมีข้อดีบ้างข้อเสียบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง จะหาคนดีครบถ้วนบริบูรณ์ไม่มีข้อบกพร่องเลย คงหาไม่ได้หรือแทบจะไม่มี บางทีแง่ที่เราว่าดี คนอื่นว่าไม่ดี บางทีแง่ที่เราไม่ดี คนอื่นว่าดี เรื่องราวลักษณะหรือการกระทำของคนที่ทำให้เราโกรธนั้น ก็เป็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอย่างหนึ่งของเขา หรืออาจเป็นแง่ที่ไม่ถูกใจเรา ทำให้เราโกรธ ก็อย่ามัวนึกถึงจุดนั้นแง่นั้นของเขา พึงหันไปมองหรือระลึกถึงความดีหรือจุดอื่นๆที่ดีๆของเขา เช่น
          บางคน ความประพฤติทางกายเรียบร้อยดี แต่พูดไม่ไพเราะ หรือปากไม่ดี แต่ก็ไม่ได้ประพฤติเกะกะระรานทำร้ายใคร  บางคนแสดงออกทางกายกระโดกกระเดกไม่น่าดู หรือการแสดงออกทางกายเหมือนไม่มีสัมมาคารวะ แต่พูดจาดี สุภาพ หรือไม่ก็อาจพูดจามีเหตุมีผล หรือบางคนปากร้ายแต่ใจดี หรือสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ค่อยดี แต่เขารักงานตั้งใจทำหน้าที่ของเขาดี หรือคราวนี้เขาทำอะไรไม่สมควรแก่เราแต่ความดีเก่าๆเขาก็มี เป็นต้น
          ถ้ามีอะไรที่ขุ่นใจกับเขา ก็อย่าไปมองส่วนที่ไม่ดี พึงมองหาส่วนที่ดีของเขาเอามาระลึกนึกถึง ถ้าเขาไม่มีความดีอะไรเลยที่จะมองเอาจริงๆ ก็ควรคิดสงสาร ตั้งความกรุณาแก่เขาว่า โธ่ ! น่าสงสาร ต่อไปนี้คนคนนี้คงจะต้องประสบผลร้ายต่างๆ เพราะความประพฤติไม่ดีอย่างนี้ นรกอาจรอเขาอยู่ ดังนี้เป็นต้น พึงระงับความโกรธเสีย เปลี่ยนเป็นสงสารเห็นใจหรือคิดช่วยเหลือแทน
          ถ้าคิดอย่างนี้ ก็ยังไม่หายโกรธ ลองวิธีขั้นต่อไปอีก
ขั้นที่ ๔
พิจารณาว่า ความโกรธคือการสร้างทุกข์ให้ตัวเองและเป็นการลงโทษตัวเองให้ สมใจศัตรู
          ธรรมดาศัตรูย่อมปรารถนาร้าย อยากให้เกิดความเสื่อมและความวอดวายให้แกกันและกัน คนโกรธจะสร้างความเสื่อมพินาศให้แก่ตัวเองได้ตั้งหลายอย่าง โดยศัตรูไม่ต้องทำอะไรให้ลำบากได้สมใจของเขา เช่น ศัตรูปรารถนาว่า ขอให้มัน (ศัตรูของเขา) ไม่สวยไม่งาม มีผิวพรรณไม่น่าดู หรือ ขอให้มันนอนทุกข์ ขอให้มันเสื่อมเสียประโยชน์ ขอให้มันเสื่อมทรัพย์สมบัติ ขอให้มันเสื่อมยศ ขอให้มันเสื่อมมิตร ขอให้มันตายไปตกนรก<!--[if !supportFootnotes]-->[1]<!--[endif]--> เป็นต้น เป็นที่หวังได้อย่างมากว่า คนโกรธจะทำผลร้ายเช่นนี้ให้แก่ตนเองตามปรารถนาของศัตรูของเขา ด้วยเหตุนี้ ศัตรูที่ฉลาดจึงมักหาวิธีแกล้งยั่วให้ฝ่ายตรงข้ามโกรธ จะได้เผลอสติทำการผิดพลาดเพลี่ยงพล้ำ
          เมื่อรู้เท่าทันเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะทำร้ายตนเองด้วยความโกรธ ให้ศัตรูได้สมใจเขาโดยไม่ต้องลงทุนอะไร  ในทางตรงกันข้าม ถ้าสามารถครองสติได้ ถึงกระทบอารมณ์ที่น่าโกรธก็ไม่โกรธ จิตใจไม่หวั่นไหว สีหน้าผ่องใส กริยาอาการไม่ผิดเพี้ยน ทำการงานธุระของตนไปได้ตามปกติ ผู้ที่ไม่ปรารถนาต่อเรานั่นแหละจะกลับเป็นทุกข์ ส่วนทางฝ่ายเราประโยชน์ที่ต้องก็จะสำเร็จ ไม่มีอะไรเสียหาย
          อาจสอนตัวเองต่อไปอีกว่า
                   ถ้าศัตรูทำทุกข์ให้ร่างกายของเจ้า แล้วไฉนเจ้าจึงมาคิดทำทุกข์ให้ที่ใจของตัวเอง ซึ่งมิใช่ร่างกายของศัตรูสักหน่อย
                   ความโกรธ เป็นตัวตัดรากความประพฤติดีงามทั้งหลายที่เจ้าตั้งใจรักษา เจ้ากลับพะนอความโกรธนั้นไว้ ถามหน่อยเถอะ ใครจะเซ่อเหมือนเจ้า
                   เจ้าโกรธว่าคนอื่นทำกรรมที่ป่าเถื่อนแล้วใยตัวเจ้าเองจึงมาปรารถนาจะทำกรรมเช่นนั้นเสียเองเล่า
                   ถ้าคนอื่นอยากให้เจ้าโกรธ จึงแกล้งทำสิ่งไม่ถูกใจเจ้า แล้วไฉนจึงช่วยทำให้เขาสมปรารถนา ด้วยการปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นมาได้เล่า
                   แล้วนี่ เจ้าโกรธขึ้นมาแล้ว จะทำทุกข์ให้เขาได้หรือไม่ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ เดี๋ยวนี้เจ้าก็ได้เบียดเบียนตัวเองเข้าแล้วด้วยความทุกข์ใจ เพราะโกรธนั้นแหละ
                   หรือถ้าเจ้าเห็นว่า พวกศัตรูขึ้นเดินไปในทางของความโกรธอันไร้ประโยชน์แล้ว ไฉนเจ้าจึงโกรธเลียนแบบเขาอีกล่ะ
                   ศัตรูอาศัยความแค้นเคืองใด จึงก่อเหตุไม่พึงใจขึ้นได้ เจ้าจงตัดความแค้นเคืองนั้นเสียเถิด จะมาเดือดร้อนด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องไปทำไม
          จะพิจารณาถึงขั้นปรมัตถ์ก็ได้ว่า
                   ขันธ์เหล่าใดก่อเหตุไม่พึงใจแก่เจ้า ขันธ์เหล่านั้นก็ดับไปแล้ว เพราะทำทั้งหลายเป็นไปเพียงชั่วขณะ แล้วที่นี้เจ้าจะมาโกรธให้ใครกันในโลกนี้
                   ศัตรูจะทำทุกข์ให้แก่ผู้ใด ถ้าเจ้าไม่มีตัวตนของผู้นั้นมารองรับทุกข์ ศัตรูนั้นจะทำทุกข์ให้ใครได้ ตัวเจ้าเองนั้นแหละเป็นเหตุของทุกข์อยู่ฉะนี้ แล้วทำไมจะไปโกรธเขาเล่า<!--[if !supportFootnotes]-->[2]<!--[endif]-->
          ถ้าพิจารณาอย่างนี้ยังไม่หายโกรธ ก็ลองพิจารณาขั้นต่อไป

ขั้นที่ ๕
พิจารณาที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน

          พึงพิจารณาว่าทั้งเราและ เขาต่างมีกรรมเป็นสมบัติของตน ทำกรรมอะไรไว้ก็จะได้รับผลของกรรมนั้น เริ่มด้วยพิจารณาตัวเองว่า เราโกรธแล้วไม่ว่าจะทำอะไร การกระทำของเรานั้นเกิดจากโทสะ ซึ่งเป็นอกุศลมูล กรรมของเราก็ย่อมเป็นกรรมชั่วซึ่งก่อให้เกิดผลร้าย มีแต่ความเสียหาย ไม่เป็นประโยชน์ และเราจะต้องรับผลกรรมนั้นต่อไป
          อนึ่ง  เมื่อจะทำกรรมชั่วที่เกิดขึ้นจากโทสะนั้น ก่อนเราจะทำร้ายเขา  เราก็ทำร้ายแผดเผาตนเองก่อนแล้วเหมือนเอามือทั้งสองข้างกอบถ่านไฟจะขว้างใส่คนอื่น ก็ไหม้มือของตัวก่อน หรือเหมือนกับเอามือกอบอุจจาระจะไปโปะใส่เขาก็ทำตัวนั่นแหละให้เหม็นก่อน
          เมื่อพิจารณาความเป็นเจ้าของกรรมฝ่ายตนเองแล้ว ก็พิจารณาฝ่ายเขาบ้างในทำนองเดียวกัน เมื่อเขาโกรธเขาจะทำกรรมอะไรเป็นกรรมชั่ว และเขาก็จะต้องรับผลกรรมของเขาเองต่อไป กรรมชั่วนั้น จะไม่ช่วยให้เขาได้รับผลดีมีความสุขอะไร มีแต่ผลร้าย เริ่มตั้งแต่แดเผาใจของเขาเองเป็นต้นไป
          ในเมื่อต่างคนต่างก็มีกรรมเป็นของตน เก็บเกี่ยวผลกรรมของตนเองอยู่แล้ว เราอย่ามัวคิดวุ่นวายใจอยู่เลย ตั้งหน้าทำแต่กรรมที่ดีไปเถิด
          ถ้าพิจารณากรรมแล้ว ความโกรธยังไม่ระงับ พึงพิจารณาขั้นตอนต่อไป

ขั้นที่ ๖
พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระพุทธเจ้า
         
          พระพุทธเจ้าของเรานั้น กว่าจะตรัสรู้ ก็ได้ ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายมาตลอดเวลายาวนานนักหนา ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยยอมเยสละแม้แต่พระชนมชีพของพระองค์เอง เมื่อทรงถูกข่มเหงกลั่นแกล้งเบียดเบียนด้วยวิธีการต่างๆก็ไม่ทรงแค้นเคือง ทรงเอาดีเข้าตอบ ถึงเขาจะตั้งตัวเป็นศัตรูถึงขนาดพยายามปลงพระชนม์ ก็ไม่ทรงมีจิตประทุษร้าย บางครั้งพระองค์ช่วยเหลือเขา แทนที่เขาจะเห็นคุณเขากลับทำร้ายพระองค์ แม้กระนั้นก็ไม่ทรงถือโกรธ ทรงทำดีต่อเขาต่อไป
          พุทธจริยาที่ว่ามานี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปยากที่จะปฏิบัติได้ แต่ก็เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งชาวพุทธควรจะนำมาระลึกตักเตือนสอนใจตน ในเมื่อประสบเหตุการณ์ต่างๆ ว่าว่าที่เราถูกกระทบกระทั่งอยู่นี้ เมื่อเทียบกับที่พระพุทธเจ้าทรงประสบมาแล้ว นับว่าเล็กน้อยเหลือเกิน เทียบกันไม่ได้เลย
          ในเมื่อเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าประสบมานั้น ร้ายแรงเหลือเกิน พระองค์ยังทรงระงับความโกรธไว้มีเมตตาอยู่ได้แล้วเหตุไฉนกรณีเล็กน้อยอย่างเรานี้ ศิษย์อย่างเราจะระงับไม่ได้ ถ้าเราไม่ดำเนินตามพระจริยาวัตรของพระองค์ก็น่าจะไม่สมควรแก่การที่อ้างเอาพระองค์เป็นพระศาสดาของตน
          พุทธจริยาวัตร เกี่ยวกับความเสียสละอดทน และความมีเมตตากรุณาของพระพุทธเจ้า อย่างที่ท่านบันทึกไว้ในชาดกมีมากมายหลายเรื่อง และส่วนมากยืดยาวไม่อาจนำมาเล่าที่นี้ได้ จะขอยกชาดกง่ายๆๆ สั้นๆ มาเล่าพอเป็นตัวอย่าง
          ครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์อุบัติเป็นพระเจ้ากรุงพาราณสี มีพระนามว่าพระเจ้ามหาสีลวะ ครั้งนั้นอำมาตย์คนหนึ่งของพระองค์ทำผิด ถูกเนรเทศ และได้เข้าไปรับราชการในพระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศล อำมาตย์นั้นมีความแค้นเคืองติดใจอยู่  ได้ให้โจรคอยเข้ามาปล้นในดินแดนของพระเจ้าสีลวะอยู่เนืองๆ เมื่อราชบุรุษจับโจรได้ พระเจ้าสีลวะทรงสั่งสอนแล้วปล่อยตัวไป เป็นเช่นนี้เสมอ
          ในที่สุดอำมาตย์ร้ายนั้นก็ใช้เหตุการณ์เหล่านี้ยุยงพระเจ้าโกศลว่า พระเจ้าสีลวะอ่อนแอ ถ้ายกทัพไปรุกราน คงจะยึดแผ่นดินพาราณสีได้โดยง่าย พระเจ้าโกศลทรงเชื่อ จึงยกกองทัพเข้าไปโจมตีพาราณสี พระเจ้าสีลวะไม่ทรงประสงค์ให้ราษฎรเดือดร้อน จึงไม่ทรงต่อต้าน ทรงปล่อยให้พระเจ้าโกศลยึดราชสมบัติจับพระองค์ไป พระเจ้าโกศลจับพระเจ้าสีลวะได้แล้ว ก็ให้เอาไปฝังทั้งเป็นในสุสานถึงแค่พระสอ รอเวลากลางคืนให้สุนัขจิ้งจอกมากินตามวิธีประหารอย่างในสมัยนั้น
          ครั้นเวลากลางคืน เมื่อสุนัขจิ้งจอกเข้ามา พระเจ้าสีลวะทรงใช้ไหวพริบและความกล้ากาญ เอาพระทนต์ขบที่คอสุนัขจิ้งจอกที่เข้ามาจะกินพระองค์ เมื่อสุนัขจิ้งจอกดิ้นรนรุนแรงทำให้สุนัขตัวอื่นหนีไป และทำให้ที่ดินบริเวณที่ฝังนั้นกระจุยกระจายหลวมออก จนทรงแก้ไขพระองค์หลุดออกมาได้ ในคืนนั้นเองทรงเล็ดลอดเข้าไปได้จนถึงท้องบรรทมของพระเจ้าโกศล พร้อมด้วยดาบอาญาสิทธิ์ของพระเจ้าโกศลเอง ทรงไว้ชีวิตพระเจ้าโกศล และพระราชทานอภัยโทษ เพียงกู้ราชอาณาจักรคืน แล้วให้พระเจ้าโกศลสาบานไม่ทำร้ายกัน ทรงสถาปนาให้เป็นพระสหายแล้วให้พระเจ้าโกศลกลับไปครองแคว้นโกศลตามเดิม<!--[if !supportFootnotes]-->[3]<!--[endif]-->
          อีกเรื่องหนึ่ง พระโพธิสัตย์อุบัติเป็นวานรใหญ่อยู่ในป่า ครานั้นชายผู้หนึ่งตามหาโคของตนเข้ามาในกลางป่าแล้ว พลัดตกลงไปในเหวขึ้นไม่ได้ อดอาหารนอนแขม่วสิ้นหวัง สิ้นแรงพอดีในวันที่สิบ พญาวานรมาพบเข้า เกิดความสงสารจึงช่วยให้ขึ้นมาจากเหวได้
          ต่อมา เมื่อพญาวานรเหนื่อยอ่อนจึงพักผ่อนเอาแรงและนอนหลับไป ชายผู้นั้นเกิดความคิดชั่วร้ายขึ้นว่า ลิงนี้มันก็อาหารของคน เหมือนสัตว์ป่าอื่นๆ นั่นแหละ อย่ากระนั้นเลย เราหิวแล้ว ฆ่าลิงตัวนี้กินซะเถิด กินอิ่มแล้วจะได้ถือเอาเนื้อมันติดตัวไปเป็นเสบียงด้วย จะได้มีของกินเดินทางผ่านที่กันดารไปได้ คิดแล้วก็หาก้อนหินใหญ่มาก้อนหนึ่งยกขึ้นทุ่มหัวพญาวานร ก้อนหินนั้นทำให้พญาวานรเจ็บมากแต่ไม่ถึงตาย
          พญาวานรตื่นขึ้นรีบขึ้นต้นไม้ มองดูชายผู้นั้นด้วยน้ำตานอง แล้วพูดกับเขาโดยดี ทำนองให้ความคิดว่า ไม่ควรทำเช่นนั้น ครั้นแล้วยังเกรงว่าชายผู้นั้นจะหลงหาทางออกจากป่าไม่ได้ ทั้งตนก็เจ็บปวดแสนสาหัส ยังช่วยโดดไปตามต้นไม้นางชายผู้นั้นออกจากป่าไปได้ในที่สุด<!--[if !supportFootnotes]-->[4]<!--[endif]-->
          แม้พิจารณาถึงอย่างนี้แล้ว ความโกรธยังไม่ระงับ พึงลองพิจารณาวิธีต่อไป

ขั้นที่ ๗
พิจารณาความเคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ
          มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า ในสังสาระ คือการเวียนว่ายตายเกิดที่กำหนดจุดเริ่มต้นมิได้นี้ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดากัน มิใช่หาได้ง่าย<!--[if !supportFootnotes]-->[5]<!--[endif]--> เมื่อเป็นเช่นนี้ หากมีเหตุโกรธเคืองจากใคร พึงพิจารณาว่า ท่านผู้นี้บางทีจะเคยเป็นมารดาของเรา ท่านผู้นี้บางทีจะเคยเป็นบิดาของเรา
          ท่านที่เป็นมารดานั้นรักษาบุตรไว้ในท้องถึง ๑๐ เดือน ครั้น คลอดออกมาแล้ว เลี้ยงดู ไม่รังเกียจแม้แต่สิ่งปฏิกูลทั้งหลาย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำมูก เป็นต้น เช็ดล้างได้สนิทใจ ให้ลูกนอนแนบอกเที่ยวอุ้มไป เลี้ยงลูกมาได้
          ส่วนท่านที่เป็นบิดา ก็ต้องเดินทางลำบากตากตรำเสี่ยงภัยอันตรายต่างๆ ประกอบการค้าขายบ้าง สละชีวิตเข้าสู้รบในสงครามบ้าง แล่นเรือไปในท้องทะเลบ้าง ทำงานยากลำบากอื่นๆบ้าง หาทางรวบรวมทรัพย์มาด้วยคิดจะเลี้ยงลูกน้อย
          ถึงแม้ไม่ใช่มารดาบิดา ก็อาจเป็นพี่เป็นน้องเป็นญาติเป็นมิตร ซึ่งได้เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน การที่จะทำใจร้ายและแค้นเคืองต่อบุคคลเช่นนั้นไม่เป็นการสมควร
          ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วก็ยังไม่หายโกรธ ก็อาจพิจารณาตามวิธีในข้อต่อไปอีก

ขั้นที่ ๘
พิจารณาอานิสงค์ของเมตตา

ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ ก็คือ เมตตา ความโกรธมีโทษก่อผลร้ายมากมาย ฉันใด เมตตาก็มีคุณ ก่อให้เกิดผลดีมาก ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรที่จะระงับความโกรธเสียแล้วตั้งจิตเมตตาขึ้นมาแทน ให้เมตตานั้นแหละช่วยกำจัดและป้องกันความโกรธไปในตัว
ผู้เมตตาย่อมสามารถเอาชนะใจคนอื่น ซึ่งเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด ไม่กลับแพ้ ผู้ตั้งอยู่ในเมตตาชื่อว่าทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
เมตตาทำให้จิตสดชื่น ผ่องใส มีความสุข ดังตัวอย่าง  ในที่แห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสแสดงอานิสงค์ของเมตตาไว้ ๑๑ ประการ คือ หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดารักษา ไฟ พิษ และศัตราไม่กล้ำกราย จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้รวดเร็ว สีหน้าผ่องใส ตายก็มีสติไม่หลงฟั่นเฟือน เมื่อยังไม่บรรลุคุณธรรมที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก<!--[if !supportFootnotes]-->[6]<!--[endif]-->
ถ้ายังเป็นคนขี้โกรธอยู่ ก็นับว่ายังอยู่ห่างไกลจากการที่จะได้อานิสงค์เหล่านี้ ดังนั้น จึงควรพยายามทำเมตตาให้เป็นธรรมประจำใจให้จงได้ โดนหมั่นฝึกอบรมทำใจอยู่เสมอๆ
ถ้าจิตใจเมตตายังไม่เข้มแข็งพอ เอาชนะความโกรธยังไม่ได้ เพราะสั่งสมนิสัยมักโกรธไว้ยาวนาน จนกิเลศตัวนี้แน่นหนา พึงลองพิจารณาใช้วิธีต่อไป


ขั้นที่ ๙
พิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ

          วิธีการข้อนี้ เป็นการปฏิบัติใกล้แนววิปัสสนา หรือเอาความรู้ทางวิปัสสนามาใช้ประโยชน์ คือ มองดูชีวิตนี้ มองดูสัตว์ บุคคล เรา เขา ตามความเป็นจริงว่า ที่ถูกที่แท้แล้ว ก็เป็นเพียงส่วนประกอบทั้งหลายมากมายมาประชุมกันเข้าแล้วก็สมมติเรียกกันไปว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นฉัน เป็นเธอ เป็นเรา เป็นเขา เป็นนาย ก. นาง ข. ก็หาไม่พบมีแต่ส่วนที่เป็นธาตุแข็งบ้าง ธาตุเหลวบ้าง เป็นรูปขันธ์บ้าง เป็นเวทนาขันธ์บ้าง เป็นสัญญาขันธ์ เป็นสังขารขันธ์ หรือสัญญาณขันธ์บ้าง หรือเป็นอายาตนะต่างๆ เช่น ตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง เป็นต้น
          เมื่อพิจารณาตามความจริงแยกให้เป็นส่วนๆ ได้อย่างนี้แล้ว พึงสอนตัวเองว่า นี่แนะเธอเอ๋ย ก็ที่โกรธเขาอยู่น่ะ โกรธอะไร โกรธผม หรือโกรธขน หรือโกรธหนัง โกรธเล็บ โกรธกระดูก โกรธธาตุดิน โกรธธาตุน้ำ โกรธธาตุไฟ โกรธธาตุลม หรือโกรธรูป โกรธเวทนา โกรธสัญญา โกรธสังขาร โกรธวิญญาณ หรือโกรธอะไรกัน ในที่สุดก็จะหาฐานที่ตั้งของความโกรธไม่ได้  ไม่มีที่ยึดเกาะให้ความโกรธจับตัว
          อาจพิจารณาต่อไปในแนวนั้นอีกว่า ในเมื่อคนเราชีวิตเราเป็นแต่เพียงสมมติบัญญัติ ความจริงก็มีแต่ธาตุ หรือขันธ์หรือนามธรรมและรูปธรรมต่างๆ มาประกอบกันเข้า แล้วเราก็มาติดสมมตินั้น ยึดติดถือมั่นหลงวุ่นวายทำตัวเป็นหุ่นถูกชักถูกเชิดกันไป การที่มาโกรธ กระฟัดกระเฟียด งุ่นง่านเคืองแค้นกันไปนั้น มองลงไปถึงแก่นสาร ให้ถึงสภาวะความเป็นจริงแล้ว ก็เหลวไหลไร้สาระทั้งเพ ถ้ามองความจริงทะลุสมมติบัญญัติลงไปให้ถึงขั้นนี้แล้ว ความโกรธจะหายตัวไปเอง
          อย่างไรก็ตาม คนบางคนจิตใจและสติปัญญายังไม่พร้อม ไม่อาจพิจารณาแยกธาตุออกไปได้อย่างนี้ หรือสักว่าแยกไปตามที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านมา แต่มองไม่เห็นความจริงเช่นนั้นก็แก้ความโกรธไม่สำเร็จ ถ้าเช่นนั้น ก็พึงดำเนินการตามวิธีต่อไป

ขั้นที่ ๑๐
ปฏิบัติทาน คือการให้หรือแบ่งปันสิ่งของ

          ขั้นนี้เป็นวิธีการในขั้นลงมือทำ เอาของของตนให้แกคนที่เป็นปรปักษ์ และรับของปรปักษ์มาเพื่อตน หรืออย่างน้อยอาจให้ของของตนแก่เขาฝ่ายเดียว ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรมีปิยวาจา คือถ้อยคำสุภาพไพเราะประกอบเสริมไปด้วย
          การให้หรือแบ่งปันกันนี้ เป็นวิธีแก้ความโกรธที่ได้ผลชะงัด สามารถระงับเวรที่ผูกกันมายาวนานให้สงบลงได้ ทำให้สัตรูกลายเป็นมิตร เป็นเมตตากรุณาที่แสดงออกในการกระทำ ท่านกล่าวถึงอานุภาพยิ่งใหญ่ของการทานคือการให้ ว่า
                    การให้เป็นเครื่องฝึกคนที่ยังฝึกไม่ได้ การให้ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ ผู้ให้ก็เบิกบานขึ้นมาด้วยการให้ ฝ่ายผู้รับก็น้อมลงมาพบด้วยปิยวาจา
เมื่อความโกรธเลือนหาย ความรักใคร่ก็เข้ามาแทนความเป็นศัตรูกลับกลายเป็นมิตรไฟพยาบาทก็กลายเป็นน้ำทิพย์แห่งเมตตา ความแผดเผาเร่าร้อนด้วยทุกข์ที่เร้ารุมใจก็กลายเป็นความสดชื่นผ่องใสเบิกบานใจด้วยความสุข
ทั้ง ๑๐ วิธี ที่กล่าวมาเป็นขั้นๆนี้ ความจริงมิใช่จำเป็นต้องทำตามลำดับเรียงรายข้ออย่างนี้ วิธีใดเหมาะได้ผลสำหรับตน ก็พึงใช้วิธีนั้น ตกลงว่า วิธีการท่านได้แนะนำไว้อย่างนี้แล้ว เป็นเรื่องของผู้ต้องการแก้ปัญหา จะพึงนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แท้จริงต่อไป
<!--[if !supportFootnotes]-->

<!--[endif]-->
<!--[if !supportFootnotes]-->[1]<!--[endif]--> เทียบกับคำสอนไม่ให้โศกเศร้า,องฺ.ปญจก.๒๒/๔๘/๖๒
<!--[if !supportFootnotes]-->[2]<!--[endif]--> วิสุทธิมัคค์ ๒/๙๗ (ตัดข้อความสำหรับพระภิกษุโดยเฉพาะออกแล้ว)
<!--[if !supportFootnotes]-->[3]<!--[endif]--> มหาสีลวชาดก,ชา.อ. ๒/๔๑
<!--[if !supportFootnotes]-->[4]<!--[endif]--> ดู มหากปิชาดก,ชา.อ. ๗/๒๗๑
<!--[if !supportFootnotes]-->[5]<!--[endif]--> สํ.นิ. ๑๖/๔๕๑ -๕/๒๒๓-๔
<!--[if !supportFootnotes]-->[6]<!--[endif]--> องฺ.เอกาทสก. ๒๔/๒๒๒/๓๗๐ (หมายถึงเมตตาเจโตวิมุตติ)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น