วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯสิ้นพระชนม์

       
                                          

        (คัดลอกจาก "มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา")

พระประวัติ
การเตรียมรับพระประสูติการ
        เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า เจ้าจอมสุวัทนาจะมี
พระประสูติการพระหน่อในอนาคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
เจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยโสมนัสเป็นอย่างยิ่งทรงเตรียมการรับ
พระประสูติการเป็นอเนกปริยายเริ่มด้วยทรงปรับปรุงพระราชนิพนธ์ 
ละครรำ เรื่อง พระเกียรติรถ ตอนที่ ๑ ให้เป็นละคร ดึกดำบรรพ์ เพื่อ
จะได้ทรงจัดแสดงในพระราชพิธีสมโภชเดือนของพระหน่อในกาล 
ต่อไป ในบทละครเรื่องนี้ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทขับกล่อมพระบรรทมพระราชกุมารตาม
ท้องเรื่องเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๖๘ โดยกำหนด
เพลงสำหรับขับลำ คือ ทำนองปลาทอง ความว่า
         “พระเอยพระหน่อนาถ         งามพิลาศดังดวงมณีใส
        พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย         มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์
           ดอกเอยดอกจัมปา         หอมชื่นจิตติดนาสา
        ยิ่งดมยิ่งพาให้ดมเอย
           หอมพระเดชทรงยศโอรสราช     แผ่เผยผงาดในแดนไกล
        พึ่งเดชพระหน่อไท               เป็นสุขสมใจไม่วางวาย
        รูปลม้ายคล้ายพระบิตุราช       ผิวผุดผาดเพียงชนนีศรี
        ขอพระจงทรงคุณวิบุลย์ทวี    เพื่อเปนที่ร่มเกล้าข้าเฝ้าเทอญ
          ดอกเอยดอกพุทธิชาต     หอมเย็นใจใสสอาด
        หอมบ่มิขาดสุคนธ์เอย
        หอมพระคุณการุญเปนประถม   เย็นเกล้าเหมือนร่มโพธิ์ทอง
        เหล่าข้าทูลลออง               ภักดีสนองพระคุณไท”
        ในเดือนตุลาคม ๒๔๖๘ นั้นเอง เนื่องจากเป็นเวลาใกล้จะถึง
กำหนดพระประสูติการแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ได้เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปทรงควบคุม
การซ้อมละครสมโภชดังกล่าว ณ จิตรลดาสภาคารพระตำหนัก
จิตรลดารโหฐาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ้อมวงมโหรี
ก่อนเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ตุลาคม จนกระทั่งวันพุธที่ ๑๑ 
พฤศจิกายน ๒๔๖๘
        อนึ่ง ในวันเสาร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๖๘ มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนา ขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็น 
“พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี” เพื่อผดุงพระราชอิสริยยศแห่ง
พระราชกุมาร ที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า ปรากฏความ
โดยละเอียดในประกาศสถาปนาพระอิสริยยศพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี ว่า
        “ทรงพระราชดำริว่า เจ้าสุวัทนาได้รับราชการสนอง
พระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์กตเวทีมีความจงรักภักดี
ในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยสมควร
ที่จะทรงยกย่องให้เปนใหญ่เพื่อผดุงพระราชอิศริยยศแห่ง
พระกุมารที่จะมีพระประสูติกาลในเบื้องหน้า
        อนึ่ง เจ้าจอมสุวัทนาก็เปนเชื้อสกุลที่บรรพบุรุษทั้งสอง
ฝ่ายได้รับราชการมีความดีความชอบใน ราชการได้รับ
พระราชทานพระมหากรุณาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมาหลาย
ชั่วคน คือข้างฝ่ายบิดาของเจ้าจอมสุวัทนาเปนเชื้อสายของ
เจ้าพระยาอภัยภูเบศรซึ่งเคยได้รับราชการเป็นผู้สำเร็จ
ราชการเมืองพระตะบองต่างพระเนตรพระกรรณตั้งแต่
รัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่หนึ่ง
มาจนเมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายมารดาก็เป็นเชื้อสายสกุลลงมาจากเจ้า
พระยาอัครมหาเสนาทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหา
ประยุรวงศ์ สมเด็จพระบรมมหาศรีสุริยวงศ์และเจ้าพระยา
สุรวงศ์ไวยวัฒน์ นับว่าเป็นผู้มีสกุลสูงทั้งสองสาย จะทรง
ยกย่องให้เจ้าจอมสุวัทนามีอิศริยยศสูงในตำแหน่งก็สมควร
แล้ว
        จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
เจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเปนเจ้า มีพระอิศริยยศเปนพระนางเจ้า
สุวัทนา พระวรราชเทวี
        จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณ
สารสมบัติสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญฯ”
         เหตุที่ทรงพระราชดำริสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็นพระนางเจ้า
สุวัทนาพระวรราชเทวีนั้น เนื่องมาจากธรรมเนียมราชตระกูลใน
กรุงสยามที่มีแบบแผนว่าหากเป็นพระหน่อของพระมหากษัตริย์
ย่อมดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จเจ้าฟ้า”แต่ถ้าหากเป็นพระหน่อ
ประสูติแต่พระมารดาที่เป็นสามัญชนแล้ว ย่อมดำรงพระอิสริยยศ
เป็นแต่เพียง “พระองค์เจ้า” เท่านั้น ในกรณีนี้ ย่อมแสดงถึง
พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยชัดแจ้งว่าทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้พระหน่อที่จะมี
พระประสูติการในเวลาอันใกล้ ดำรงพระอิสริยยศเป็น
“สมเด็จเจ้าฟ้า” ตามโบราณราชประเพณี

พระประสูติการ
        ในเวลาที่จะมีพระประสูติการนั้น พระนางเจ้าสุวัทนา 
พระวรราชเทวีเริ่ม ประชวรพระครรภ์ในเวลา ๒๐.๐๐ น. ของ
วันจันทร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๖๘
        จนกระทั่งวันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เวลาเช้า คณะ
สักขีซึ่งมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย 
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง 
และเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก
ประชุมปรึกษากันเห็นพ้องว่าหากเวลาเที่ยงวันแล้วยังไม่มีพระประสูติการ 
ก็จะให้แพทย์ใช้เครื่องมือถวายพระประสูติการจวบจนเวลา ๑๒.๐๐ น. 
แพทย์ได้เตรียมการไว้พร้อมสรรพแล้วพระวรสุนทโรสถ (เพี้ยน สิงหชัย)
ใช้เครื่องมือถวายพระประสูติการโดยมีหลวงเชิดบูรณศิริ (เชิด บูรณศิริ) 
และหลวงไวทเยศรางกูร (เชื้อ อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นผู้ช่วย
        ครั้น ณ เวลา ๑๒.๕๒ น. พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มี
พระประสูติการพระราชธิดา ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่มหา
มนเทียร ขณะนั้น ชาวประโคม ประโคมสังข์ แตร ปี่พาทย์ ตาม
ราชประเพณีต่อมาในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพได้เข้าเฝ้าทูล
ละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งในขณะนั้นกำลังอยู่ในพระอาการประชวรที่ค่อนข้างวิกฤต เพื่อ
กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มี
พระประสูติการ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” เมื่อความทราบฝ่าละออง
ธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน”
        รุ่งขึ้นวันพุธที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เวลากลางวัน คณะแพทย์
ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบ
บังคมทูลพระกรุณาว่ามีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระ
ราชธิดาหรือไม่ แต่ในขณะนั้นพระอาการประชวรหนักเกินกว่าจะมี
พระราชดำรัสตอบได้จึ่งได้แต่ทรงพยักพระพักตร์แสดงพระราช
ประสงค์ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จึงเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
ซึ่งบรรทมบนพระยี่ภู่ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระวิมาน 
ในพระที่นั่งจักรพรรดิมาน เมื่อถึงที่เฝ้าแล้ว เจ้าพระยารามราฆพ
เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จากเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ไปเฝ้า
ทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถบนพระแท่น
เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามจะยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัส
พระราชธิดาแต่ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยก
พระหัตถ์ได้เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ของพระบาท
สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นสัมผัสพระราชธิดาเมื่อจะเชิญเสด็จ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกลับก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์
จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้งจึงเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นคำรบที่สอง แล้วเชิญเสด็จสมเด็จ
พระเจ้าลูกเธอกลับออกจากที่เฝ้า
        จากนั้น พระอาการประชวรก็ทรุดหนักลงจนพระวิสัญญี จวบจน
คืนวันพุธที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เวลา ๑.๕๕ น. ซึ่งนับเป็นวัน
พฤหัสบดีที่ ๒๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ
สวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในหมู่พระมหามนเทียร 
พระบรมมหาราชวัง
                                                                                                         อ่านต่อ...
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น